price/performance

Happy Espresso ได้รับเกียรติจากกรรมการชมรมบาริสต้าและร้านกาแฟเชียงใหม่ ไปเป็นวิทยากรร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง เลือกเมล็ดกาแฟอย่างไรให้เหมาะสมกับร้าน ในงาน Chiangmai Coffee Festival 2017 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา เนื้อหาในการพูดคุยถามตอบกับพี่ตุ้มพิธีกรสุดหล่อแห่งร้าน The Old Chiangmai Cafe นั้นน่าสนใจดี ผมเลยจับประเด็นเอามาสรุปไว้ที่นี่ครับ

25075023_10210892067763262_5821647522372722720_o

Continue reading

Americano?

เมื่อ 5 ปีที่แล้วเคยเขียนไว้ใน blog นี้ว่าอเมริกาโนไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความจำเป็นต้องดื่มอเมริกาโนบ่อยๆ เลยทดลองหาคำตอบดูว่าจะทำให้อเมริกาโนอร่อยขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยที่เราคิดว่ามีผลโดยตรงกับรสชาติของอเมริกาโนนอกจากการทำช็อตเอสเพรสโซให้ได้ดีแล้วคืออุณหภูมิ รายละเอียดเป็นอย่างไรมาดูกัน

ปกติแล้วอุณหภูมิของช็อตเอสเพรสโซที่ออกมาจากก้น portafilter จะอยู่ที่ประมาณ 88-90 องศา เมื่อไหลลงมาอยู่ในถ้วยก็จะเริ่มเสียอุณหภูมิให้สภาพแวดล้อมไปอีก ในถ้วยเอสเพรสโซที่อุ่นจัดช็อตกาแฟมีอุณหภูมิประมาณ 70 กว่าองศา Continue reading

drinkability

ในการทำร้านกาแฟนอกจากต้องออกแบบร้านให้สวยๆ นั่งสบายถ่ายรูปแจ่มแล้ว การออกแบบเครื่องดื่มให้หน้าตาสวยถ่ายรูปสวยก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะเดี๋ยวนี้คนชอบแชร์ชีวิตตัวเองในโลกโซเชียล ร้านสวย เครื่องดื่มหน้าตาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่อีกครึ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการออกแบบเครื่องดื่มให้มี drinkability สูงด้วย คำนี้เป็นศัพท์ที่ใช้อยู่ในแวดวงเครื่องดื่มเช่นไวน์หรือเบียร์ มาจากคำว่า drink รวมกับ ability แปลง่ายๆว่าความดื่มง่าย โดยวัดเป็นความสูง เช่น มีความดื่มง่ายสูง มีความดื่มง่ายต่ำ ในแวดวงเบียร์หรือไวน์มีการวิจัยทดลองโดยการให้ผู้ถูกทดลองดื่มยี่ห้อต่างกันห้าหกยี่ห้อในระยะเวลาที่กำหนดแล้วดูว่าความพอใจในยี่ห้อไหนลดลงเมื่อดื่มไปมากๆเข้า ผลการวิจัยพบว่า table wine ที่ดีหรือเบียร์ยี่ห้อดังที่มีขายทั่วไปจะมี drinkability สูงกว่ายี่ห้ออื่นหรือแม้กระทั่งยี่ห้อแพงๆที่ได้รางวัล Continue reading

Christmas Blend 2016

คริสตมาสเบลนด์ปีนี้คิดอยู่นานว่าจะเอากาแฟอะไรดี ปกติเราจะสรรหากาแฟนอกดีๆมาคั่วเฉพาะช่วงฤดูกาล แต่เพราะปีนี้เราไม่ค่อยตื่นเต้นกับกาแฟนอกที่เราได้มาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะครับแต่เพราะมันไม่ว้าวในระดับแปดสิบเก้าคะแนน จนวินาทีสุดท้ายเราได้กาแฟดิบคุณภาพสูงจากมิตรภาพของพี่ๆสองท่านในวงการกาแฟไทยนี่เอง

ตัวแรกเป็น Ethiopia Sidamo Shilcho Grade 1 ที่ผ่านการแปรรูปแบบ Washed คุณภาพเยี่ยม รสชาติคุ้นลิ้นแนวมะกรูดมะนาวผสมดอกไม้ของ Sidamo ที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เอามาคั่วในระดับ light roast แล้วผสมกับกาแฟที่ผมทึ่งมากที่สุดของปีนี้ มัน คือ กาแฟ โรบัสต้า ไทย !!! Continue reading

easy, tasty, clean

กลับมาอีกครั้งกับที่ชงกาแฟดริปพอร์ซเลนจากเยอรมนี ที่ตอบโจทย์การชงกาแฟสไตล์แฮปปี้อย่างมาก ชงง่าย รสชาติดี ไม่มีวัสดุสิ้นเปลือง โดยหัวใจของที่ชงกาแฟดริปนี้คือตะแกรงกรองกากกาแฟที่ทำจากเซรามิคด้วยเทคนิคโบราณนับร้อยปีที่สืบทอดต่อกันในครอบครัวเท่านั้น


Continue reading

disconnection of taste

หลังๆมานี้ได้ยินลูกค้าถามมาเรื่องรสชาติกาแฟที่เปลี่ยนไป เค้าเล่าว่าเบลนด์ที่พี่ทำให้ผมอร่อยอยู่สองสัปดาห์แรก พอเข้าสัปดาห์ที่สามเริ่มติดขมและสัปดาห์ที่สี่เริ่มขมมาก พอได้ยินคอมเม้นท์แบบนี้บอกเลยว่าดีใจมากที่บาริสต้าชิมกาแฟที่ตัวเองชง เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ


ตัวปัญหาของเรื่องนี้คือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในกาแฟทำให้การสกัดกาแฟทำได้ไม่เต็มที่ เวลากาแฟเพิ่งคั่วมาใหม่ๆจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เวลาน้ำไหลผ่านผงกาแฟจะซึมเข้าไปสกัดรสชาติออกมาได้ยากกว่าเพราะโดนคาร์บอนไดออกไซด์ขัดขวางไว้ รสชาติกาแฟที่ได้ความขมจะไม่มากแต่จะมีกลิ่นควันจากกาแฟคั่วใหม่พอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีการคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากกาแฟมากขึ้น เวลาน้ำสัมผัสกาแฟจึงแทรกซึมได้ทั่วถึงและดึงรสชาติออกมา


วิธีแก้ก็คือเราปรับเครื่องบดกาแฟให้ละเอียดหรือหยาบขึ้น เพื่อชดเชยที่น้ำซึมเข้าไปสกัดรสชาติของกาแฟออกมาได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นเครื่องชงเอสเพรสโซที่เราสามารถปรับอุณหภูมิหรือแรงดันได้บาริสต้าก็สามารถลดอุณหภูมิหรือแรงดันได้ตามสะดวก ระยะเวลาที่กาแฟสัมผัสน้ำให้นานขึ้นหรือลดลง บาริสต้าต้องยึดรสชาติของกาแฟเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดอื่นๆเช่นความสวยของน้ำกาแฟที่ไหลอาจจะไม่เหนียวหนืดนัก เวลาที่สกัดช็อตอาจจะสั้นลง หรือแม้แต่ brew ratio หรือ extraction yield ก็สามารถเปลี่ยนได้ถ้ารสชาติไม่อร่อย

ดังนั้น สรุปว่า กาแฟคั่วเข้มดีแก๊สเร็วกว่ากาแฟคั่วอ่อน กาแฟเก็บที่อุณหภูมิสูงดีแก๊สเร็วกว่า กาแฟเก็บที่ที่สูง(บนดอย)ดีแก๊สช้ากว่า 

the fifth element of espresso

สืบเนื่องจากโพสต์ของ Matt Perger ในเว็บบล็อก Barista Hustle ทางทีมงานแฮปปี้เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์เลยไม่แปลแต่จะรวบความให้ ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาที่เราได้ไปแบ่งปันในงาน SCB SME Spring Up Thailand

เริ่มที่สไลด์ที่เราทำ ในนั้นมี  1 หน้าที่เกี่ยวกับ 5M ของเอสเพรสโซ ซึ่งแตกต่างเล็กน้อยกับ 4M ของอิตาเลียนเอสเพรสโซ ซึ่งประยุกต์มาจาก 5M ที่คนในแวดวงวิศวกรรม โรงงาน ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมรู้จักดี ได้แก่

screenshot-2016-09-14-15-19-23

ซึ่งเครื่องมืออย่าง refractometer ที่วัดค่า TDS หรือแม้กระทั่งตาชั่งดิจิตอลที่เราใช้กัน คือหนึ่งในเครื่องมือชั่ง ตวง วัด เพื่อใช้ในการตรวจสอบ ในบล็อกโพสต์ของ Matt สรุปความได้ประมาณว่า

  1. เราไม่ได้ต้องการสกัดกาแฟออกมาให้มากที่สุด แต่เราต้องการสกัดกาแฟอย่างสม่ำเสมอทั่วถึงกันที่สุด
  2. ค่า TDS ที่มากกว่าไม่ได้หมายความว่าดีกว่าเสมอไป แต่ส่วนใหญ่ค่า TDS ที่มากกว่ามักจะบ่งบอกถึงการสกัดที่สม่ำเสมอกว่า
  3. ค่า TDS ที่สูงกว่าไม่ได้หมายความว่าจะอร่อยกว่า
  4. เครื่องมือวัดค่าต่างๆ เป็นการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งมีความแม่นยำสม่ำเสมอสูงกว่าการชิมรสชาติของคน ซึ่งสามารถบิดเบี้ยวได้จากอคติ ความเจ็บป่วย และความแปรปรวนของอารมณ์ บางทีแค่กินอะไรรสจัดๆมาก่อนหน้าก็เพี้ยนแล้ว (อย่างไรก็ดี เครื่องมือวัดต่างๆก็ต้องการการสอบเทียบ หรือ calibration เพื่อให้มั่นใจได้ว่าที่วัดออกมานั้นได้ค่าที่ถูกต้อง)
  5. การที่เราเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ เปรียบเทียบกับการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพอย่างการชิมรสชาติ ช่วยทำให้เราสามารถพัฒนาปรับปรุงการชงกาแฟเอสเพรสโซได้ง่ายและเร็วขึ้น ยิ่งเราเก็บข้อมูลมาก ชิมมาก สังเกตความสัมพันธ์ของตัวเลขกับรสชาติมากขึ้น เราจะสามารถเรียนรู้และจัดการกับตัวแปรต่างๆในการชงกาแฟได้มากขึ้น
  6. ในความคิดเห็นด้านล่าง มีหลายคนที่เป็นที่นับถือในวงการ ได้กล่าวไว้ประมาณนี้
    1. ปุ่มรับรสบนลิ้นของคุณบอกว่ากาแฟนั้นดีเลิศขนาดไหน ส่วนตัวเลขที่วัดได้เป็นป้ายบอกทางว่าจะกลับไปจุดนั้นได้อย่างไร
    2. การชงกาแฟไม่ใช่ศิลปะล้วนๆ แต่เป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ถ้าใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย กาแฟของเราจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและมีทิศทาง ไม่ใช่องค์ลงแล้วชงดี ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ไปด้วยกันได้

แฮปปี้เอสเพรสโซเราเชื่อว่า ยุคนี้ที่เรามีเครื่องมือวัดต่างๆมากมาย หากเรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เราจะชงกาแฟได้อร่อยขึ้น ง่ายขึ้น แต่เราก็ไม่ควรยึดติดกับเครื่องมือวัดจนเกินไป จนลืมว่ารสชาติของกาแฟนั้นเป็นอย่างไร

ขอให้มีความสุขกับการดื่มกาแฟครับ

designing milk drinks

ที่แฮปปี้กรุงเทพฯ ตอนตกแต่งร้านใหม่มีแนวคิดว่าอยากให้หลายๆอย่างเป็นสีขาว เราเลยเอาเครื่อง Spirit ไปทำ powder coat เป็นสีขาวด้านๆ และคิดว่าน่าจะเปลี่ยนถ้วยใหม่ให้เป็นสีขาวเหมือนๆกัน เพราะถ้วยกาแฟที่ร้านเดิมนั้นมีหลายแบบมากตามที่ได้ไปสอยมาจากที่ต่างๆ เราเลือกถ้วยของ notNeutral ตามคำแนะนำของน้องมุกแห่ง Asama Cafe ที่เป็นบาริสต้าดีกรีแชมป์ประเทศไทยและยังเป็นกรรมการบาริสต้าระดับโลก ถ้วยกาแฟ notNeutral เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Intelligentsia ที่เป็นโรงคั่วชื่อดังของอเมริกา กับนักออกแบบถ้วยมือฉมังที่เคยร่วมอยู่ในทีมออกแบบถ้วยกาแฟ illy มีถ้วยกาแฟร้อนให้เลือกถึง 5 ขนาด ไล่ตั้งแต่ถ้วยเอสเพรสโซ 3 ออนซ์ ถ้วยคาปูชิโน่ 5 ออนซ์ ถ้วยคาปูชิโน่ 6 ออนซ์ ถ้วยลาเต้ 8 ออนซ์ ถ้วยลาเต้ขนาด 12 ออนซ์ นี่ไม่นับรวมถ้วยมักที่ใช้ดื่มกาแฟดำ 10 ออนซ์ ที่เรามีให้เลือกมากขนาดนี้ก็เพราะเรามีเสิร์ฟกาแฟสองเบลนด์ที่รสชาติแตกต่างกัน และการชงเอสเพรสโซในกาแฟแต่ละเบลนด์ก็แตกต่างกันเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด

พอได้ถ้วยกาแฟมา เรามานั่งคิดว่าเราจะทำเครื่องดื่มนมให้มีรสชาติอย่างไร เราควรคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง ก็พอสรุปได้ง่ายๆอยู่ 2 อย่าง

  1. ช็อตเอสเพรสโซ ปริมาณของช็อตคือเท่าไหร่ (น้ำหนัก) ความเข้มข้นของกาแฟเป็นเท่าไหร่ (TDS) ซึ่งนอกจากใช้ตัวเลขเป็นตัวควบคุมคุณภาพแล้ว ยังต้องชิมรสชาติของกาแฟด้วยว่าค่อนไปทางขมหรือเปรี้ยว กาแฟเปรี้ยวเวลาโดนนมจะหวานขึ้นแต่เปรี้ยวจะไม่หายไป กาแฟขมเวลาโดนนมมักจะไม่เปรี้ยวแต่จะขมน้อยลง
  2. ปริมาณนม โฟมนมหนาเท่าไหร่ (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของปากถ้วย) น้ำนมมีมากเท่าไหร่ (น้ำหนัก) ปัจจัยในข้อสองนี้มีผลต่อการดื่มมาก ริมฝีปากลูกค้าจะโดนโฟมนมเท่าไหร่ น้ำนมจะเจือจางช็อตกาแฟลงเท่าไหร่ ซึ่งส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับการออกแบบถ้วยกาแฟเป็นอย่างมาก ถ้วยปากกว้างกับถ้วยปากแคบเวลาสตีมนมควรชดเชยให้ได้โฟมนมในถ้วยเท่าๆ กันเพื่อความรู้สึกที่ดี

ตัวอย่าง

เราขอยกตัวอย่าง Timeless เบลนด์ที่รสชาติค่อนไปทางเปรี้ยว เวลาดึงช็อตเอสเพรสโซ จะอร่อยได้รสกลมกล่อมที่สัดส่วนประมาณ 1:2.5 คือใช้ผงกาแฟ 20 กรัม ชงได้น้ำกาแฟ 50 กรัม TDS จะอยู่ประมาณ 8.5-9% ทีนี้พอใส่นมในแต่ละถ้วยแต่ละขนาด เราก็เอา TDS มาหารกับปริมาณนมอีกที ก็จะรู้ความเข้มข้นคร่าวๆ ของกาแฟในถ้วยนั้น และสามารถคำนวนต่อๆไปได้ว่าถ้าเปลี่ยนถ้วยกาแฟเป็นเท่านั้นเท่านี้จะได้รสชาติประมาณไหน

dscf1409

เริ่มต้นจากการชั่งน้ำหนักถ้วยเปล่าก่อน จดเอาไว้เพื่อนำมาหักลบกับน้ำหนักของกาแฟและนมที่จะเพิ่มเข้าไปทีหลัง เพื่อการทดสอบเราใช้ถ้วยขนาด 5oz และ 8oz แล้วลองชงกาแฟดูได้ช็อต 24.3 ถ้วยนึง 24.6 ถ้วยนึง จดเอาไว้แล้วนำไปวัด TDS

dscf1411

TDS วัดออกมาได้ 9.3% ซึ่งถือว่า over extract ไปพอสมควร และตัวเลข 9.3 บ่งบอกได้ว่าเนื้อสัมผัสของเอสเพรสโซช็อตนี้จะค่อนข้างเบา

dscf1415

หลังจากนั้นก็สตีมนมแล้วเทใส่ในถ้วย (ขออภัยที่ลายไม่สวย) ชั่งน้ำหนักของทั้งสองถ้วยดู ปรากฏว่าในถ้วย 5oz นั้นได้น้ำหนักนม 126.8 คำนวนแล้วสัดส่วนของกาแฟต่อนมประมาณ 1:5 พอเอา TDS มาหารกับปริมาณทั้งหมดได้อยู่ประมาณ 1.55% เวลาชิมรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ และมีกลิ่นผลไม้ออกมาตามลักษณะของกาแฟ Timeless ส่วนถ้วย 8oz นั้นได้น้ำหนักนม 224.1 สัดส่วนกาแฟต่อนมประมาณ 1:10 เอา TDS มาหารกับปริมาณทั้งหมดได้อยู่ประมาณ 0.85% รสชาติกาแฟจะเด่นรสนมมากๆและมีกลิ่นกาแฟนิดหน่อยพอให้บอกว่าเป็นเครื่องดื่มกาแฟได้เท่านั้น

ทีนี้ลองคำนวนเล่นๆ ถ้าเราใช้ดับเบิลช็อต คือเอาช็อตกาแฟทั้งสองรวมอยู่ในถ้วยเดียว  TDS ของกาแฟไม่เปลี่ยนแต่สัดส่วนของกาแฟต่อนมในแต่ละถ้วยเปลี่ยนไป ในถ้วย 5oz จะมีกาแฟ 48.9 กรัม นมจะเหลือ 102.2 กรัม สัดส่วนของกาแฟต่อนมคือ 1:2 นิดๆ TDS มาหารกับปริมาณทั้งหมดคือ 3.1% ซึ่งเดาได้ว่าเวลาชิมน่าจะเปรี้ยวมาก แต่ถ้าเราใช้ดับเบิลช็อตในถ้วย 8oz ก็จะเหลือนมประมาณ 200 กรัม สัดส่วนของกาแฟต่อนมคือประมาณ 1:5 ซึ่งจะใกล้เคียงกับกรณีใช้กาแฟช็อตเดียวในถ้วย 5oz รสชาติก็น่าจะใกล้เคียงกัน

dscf1416

ขั้นต่อไป สมมุติว่าเราเปลี่ยนกาแฟเป็นกาแฟคั่วเข้มแล้วดึงช็อตสั้นลง ได้ TDS ต่อช็อตที่สูงขึ้น อย่างในภาพด้านบนเราใช้กาแฟ French Roast ที่คั่วเข้มหน่อย บด 20 กรัม ดึงช็อตแบบ ristrettononno (โคตรริสเตรตโต้) ได้ 17.2 กรัม TDS 18.2% รสชาติติดขมนิดๆ และไม่เปรี้ยวเลยเพราะ under extract เราลองใช้กาแฟดับเบิลช็อตในถ้วย 6oz ได้สัดส่วน 1:10 พอหาร TDS ออกมาก็เหลือ 1.56% อยู่ดี รสชาติกลมกล่อม นำมาด้วย roasted nut และหวานๆคาราเมล ไม่มีเปรี้ยวผลไม้ ส่วนตัวผู้ทดสอบติดรสชาติการดื่มกาแฟดำที่มี TDS อยู่ประมาณ 1.5% และคิดว่าการดื่มกาแฟให้อร่อยและสามารถได้รับรสกาแฟอย่างกลมกล่อมนั้นควรจะมี TDS สุดท้ายอยู่ประมาณ 1.5% ทั้งนี้ ตัวเลขเป็นเพียงค่าประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น สุดท้ายก็ยังต้องชิมและถามความเห็นของลูกค้าครับ

ทีนี้ ชีวิตจริงเวลาลูกค้าเดินเข้าร้าน เค้าไม่รู้หรอกว่าถ้วยกาแฟแต่ละขนาด ช็อตกาแฟ TDS เท่าไหร่ ใช้กาแฟกี่กรัม เป็นหน้าที่ของบาริสต้าต้องเลือกสรรและปรับสูตรการชงให้เหมาะสมกับกาแฟที่ใช้และถ้วยกาแฟที่ใช้ด้วยครับ

Espresso Yen

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ตื่นเช้ามานั่งอยู่เฉยๆสักพักเหงื่อก็ไหลออกมาได้ อาหารก็เผ็ดร้อน ดังนั้นไม่แปลกที่เครื่องดื่มอะไรที่เย็นๆจะขายดี ที่ต่างประเทศเวลาเข้าฤดูร้อนก็เห็นโปรโมทเมนูเย็นกันขึ้นมาขายทุกปี โลกนี้ก็นับวันจะร้อนขึ้นเรื่อยๆจนบาริสต้าไทยทนไม่ไหวถึงขนาดสร้างเมนู Espresso Yen ขึ้นมา และไม่มีใครสามารถลบมันออกไปจากสารบบกาแฟไทยได้

Happy Espresso เราได้คิดค้นสูตรการชงเอสเพรสโซเย็นขึ้นมาโดยมีแนวคิดผสมผสานระหว่างกาแฟโบราณกับกาแฟสมัยใหม่ เน้นความกลมกล่อมมากกว่าเข้มข้นหวานมัน ถ้าท่านอยากได้ประเภทแวะปั๊มซื้อจากอยุธยาขับไปจิบไปแล้วหมดที่ลำปางยังอร่อยอยู่ไม่ใช่สูตรนี้ครับ

เอสเพรสโซเย็นของเราประกอบด้วยส่วนผสมดังนี้

DSCF1318

  1. กาแฟ Cento Espresso ที่เป็นกาแฟคั่วกลางตัวขายดีที่สุดตลอดกาลของเรา กาแฟตัวนี้มีรสเปรี้ยวเล็กน้อยสามารถทำร้อนได้เย็นได้ แนะนำให้ใช้กาแฟหลังจากคั่วประมาณ 10 วัน ชงดับเบิลช็อต ใช้ผงกาแฟประมาณ 18 กรัม ลากช็อตให้ยาวนิดนึง ประมาณ 2 ออนซ์ ไม่รวมครีมา (ถ้าใช้ตาชั่งจะได้น้ำหนักประมาณ 55-60 กรัม) ช็อตไหลประมาณ 30 วินาทีนับแต่เริ่มกดปุ่มชงกาแฟ กาแฟจะติดขมนิดๆ มีกลิ่นไหม้หน่อยๆ
  2. นมข้นหวาน เราทดลองแทบจะทุกยี่ห้อในท้องตลาด และพบว่าที่กลิ่นเข้ากับกาแฟเราดีที่สุดคือที่เขียนระบุไว้ว่าเป็น น ม ไม่ใช่ ค รี ม เ ที ย ม ครับ ที่ร้านเราใช้ยี่ห้อมะลิมาตั้งแต่ต้น เราใส่นมข้นหวานประมาณ 15 ซีซี หรือครึ่งออนซ์ ความหวานประมาณนี้จะตัดรสขมไหม้จากการลากช็อตกาแฟของเราพอดี เราต้องการแค่กลิ่นเฉพาะที่คนไทยคุ้นลิ้นกันมานาน
  3. นมข้นจืด แล้วแต่ว่าชอบกลิ่นของมันหรือไม่ ปกติเราไม่ใส่ แต่ถ้าอยากให้กาแฟมันขึ้น แนะนำให้ใส่ได้ประมาณ 10 ซีซี
  4. นมสดพาสเจอไรซ์ ประมาณ 4 ออนซ์ เลือกใช้ยี่ห้ออะไรก็ได้ตามสะดวก ที่ร้านเราใช้ Dalum ตัว Low Fat ครับ

ขั้นตอนการชง

  1. ตวงนมข้นหวานใส่ถ้วยตวงขนาด 8 ออนซ์ไว้
  2. บดกาแฟ ชงกาแฟ ลงในถ้วยตวงที่มีนมข้นหวานอยู่ คนเร็วๆ ให้กาแฟกับนมข้นหวานเข้ากันได้ดี
  3. ใส่นมสดพาสเจอร์ไรซ์ลงไป คนให้กาแฟเข้ากัน
  4. ตักน้ำแข็งอัดให้แน่นถ้วยพลาสติก 16 ออนซ์ ราดกาแฟที่คนผสมเสร็จแล้วลงไป ด้วยอุณหภูมิของกาแฟจะทำให้น้ำแข็งละลายเล็กน้อย
  5. ปิดฝาเสิร์ฟได้

 

DSCF1321.JPG

Espresso Yen สูตรนี้จะได้เครื่องดื่มที่มีสีเข้มสวย ได้กลิ่นของกาแฟเกรดพรีเมี่ยม ความสมดุลกลมกล่อมของรสชาติ ดื่มได้ลื่นๆ ไม่ใช่ดูดสามปื๊ดหมด และยังสุขภาพดีเพราะหวานน้อยแต่ยังได้กลิ่นกาแฟอยู่ ทดลองนำไปชงกันได้ครับ แล้วได้ผลยังไงแจ้งข่าวกันบ้างนะครับ