Ep 1 – ภาษากาแฟ

โพสต์นี้ไม่ได้เน้นคำทั่วๆ ไปอย่าง tamper หรือ portafilter แต่เป็นเรื่อง lexicon หรือประมวลคำศัพท์ที่ใช้ในการบรรยายคุณสมบัติของกาแฟ ซึ่งแทบทุกคนที่สนใจการชิมกาแฟคงคุ้นเคยกับ coffee taster flavor wheel หรือกงล้อแห่งการบรรยายรสชาติของกาแฟ

ฉบับดั้งเดิม มี defect กาแฟแบบต่างๆ ด้วย

ภาษาคือสื่อกลางในการสื่อสารความหมายระหว่างกัน คนพูดภาษาเดียวกันก็ควรจะเข้าใจกัน แต่ถ้าอยู่ในคนละสังคม หรือแม้กระทั่งคนละบริบท คำที่เคยมีความหมายอย่างหนึ่งอาจจะถูกเข้าใจไปเป็นอย่างอื่นได้ คำศัพท์ในการบรรยายรสชาติกาแฟก็ไม่เว้น หากพูดว่ากาแฟตัวนี้มีรสชาติเหมือน blood orange ฝรั่งฝั่งยุโรปอาจจะเข้าใจถึง blood orange ที่ไม่เหมือนกับอเมริกัน ส่วนคนไทยที่เกิดมาไม่เคยกิน blood orange เลยก็ยิ่งไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่ามันรสชาติเป็นยังไง หรืออย่างในวงกาแฟที่บรรยายว่ารสชาติกาแฟตัวนี้เหมือนช็อคโกแลต แต่ในขณะที่นักชิมช็อคโกแลตก็บอกว่าที่จริงแล้วรสช็อคโกแลตมันไม่มีนะ เพราะเค้าเองก็มีอีกวงนึงที่ใช้บรรยายคุณลักษณะต่างๆ ของช็อคโกแลตแยกออกไปอีก

ตอนไปอบรมเรื่องการดมกลิ่นที่จุฬาฯ

ดูเหมือนว่าวิธีที่แม่นยำที่สุดคือกลับไปสู่ต้นเหตุของกลิ่นนั้นๆ แล้วเรียกกลิ่นเหมือนกล้วยว่า ethyl acetate หรือกลิ่นแอปเปิ้ลเขียวว่า 3-methylbutyl acetate ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจะเข้าใจตรงกัน ถ้าส่งแอปเปิลเขียวหลากหลายสายพันธุ์หลายระดับความสุกมาให้ดม เราจะไม่ได้กลิ่น 3-methylbutyl acetate อย่างเดียว แต่จะได้กลิ่น hexanal และ chlorophyll และอื่นๆ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไปด้วย เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้จำกลิ่นแอปเปิลหรือกล้วยแบบเครื่องจักร เราจึงต้องการความสวยงามของภาษามาช่วยในการสื่อสาร ตอนที่ผมได้กลิ่นกล้วยจากเครื่องนี้ผมรู้สึกว่ามันเหมือนกลิ่นกล้วยปลอม ไม่เหมือนกลิ่นกล้วยบดที่ผมทำให้ลูกกินตอนเป็นเด็ก บางทีกลิ่นยังพาให้ผมยังนึกถึงความนิ่มของเนื้อกล้วยเวลาบด ความรู้สึกที่มือที่จับผิวถ้วยพลาสติกและช้อนชาสแตนเลส ความตื่นแบบไม่เต็มตามาบดกล้วยตอนเช้า หน้าของลูกตอนกินกล้วย ฯลฯ ทุกครั้งที่เราได้กลิ่นหรือพูดถึงกล้วยหรือแอปเปิลอะไรสักอย่างอาจทำให้เรานึกย้อนไปถึงความทรงจำที่ดี(หรือแย่)ที่เราเจอมา เกิดการเปรียบเทียบกับต้นแบบที่บันทึกอยู่ในหัว กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่างๆ และเป็นแรงขับให้ออกไปทำอะไรบางอย่างได้ด้วย

ความพยายามสื่อสารเรื่องรสชาติ หรือออกแบบวิธีการฝึกฝนให้ใครสักคนเป็นนักชิมกาแฟที่ได้มาตรฐานจึงเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ มีการค้นคว้าทดลองและตรวจสอบหลายขั้นตอน จนได้ reference หรือตัวอย่างอ้างอิง เช่นเวลาจะฝึกจำกลิ่นบลูเบอรี่จะต้องเป็นกลิ่นบลูเบอรี่กระป๋องยี่ห้อนี้เท่านั้น เพราะสามารถหาซื้อได้ทั่วไป อย่างไรก็ดีในบริบทของไทยควรจะมีการพัฒนา lexicon ของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้คนในประเทศที่คุ้นเคยกับพืชผักผลไม้ท้องถิ่นจะสามารถเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการถ่ายทอดรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟตัวนั้นๆ จะต้องใช้ศิลปะแห่งการสื่อสาร การสรรหาคำบรรยายที่เข้าใจชัดเจนเหมาะกับบริบทที่ใช้ สวยงาม และน่าประทับใจ

Ep.2 จะตามมาในไม่ช้าครับ

ศิลปะแห่งการชงกาแฟ

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนตอนที่เราเริ่มสนใจกาแฟใหม่ๆ หนังสือเกี่ยวกับกาแฟหลายเล่มก็มักจะตั้งชื่อประมาณนี้ เนื้อหาก็เป็นวิธีการชงกาแฟเบื้องต้น สูตรเครื่องดื่มกาแฟต่างๆ รวมถึงวิธีการเทลาเต้อาร์ต การเข้าสู่วงการกาแฟก็เป็นเรื่องไม่ยากนัก หายใจทิ้งพรืดเดียวผ่านมายุคนี้ที่โลกเริ่มเล็กลง ความรู้เกี่ยวกับกาแฟมีอยู่แค่ปลายนิ้วสัมผัส มีการให้ความสนใจกับศาสตร์ของกาแฟมากขึ้น มีคอร์สสอนเกี่ยวกับกาแฟมากมายที่ได้รับการรับรองจากสถาบันระดับโลก มีนักวิทยาศาสตร์จากหลากหลายแขนงหันมาสนใจศึกษากาแฟ มีการตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล ทดสอบทดลองอะไรต่างๆ มากมาย เพื่อหาวิธีชงกาแฟที่ดีกว่าเดิมจะได้แก้ปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ที่เจอ เพื่อหาความแตกต่างมาเป็นจุดขายให้กับกาแฟรูปแบบใหม่ๆ หรือเพื่อพิสูจน์ว่าความรู้หรือศิลปะแห่งการชงกาแฟในสมัยก่อนที่สืบทอดต่อกันมาอาจจะไม่ได้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์เสมอไป

ใครทันกราฟนี้บ้าง ยุคที่ใช้วิธีดูน้ำกาแฟที่เริ่มเปลี่ยนสี

ด้วยพื้นฐานที่เรียนสายศิลป์มา กับการที่ต้องมาเจอข้อมูลมากมายที่เป็นวิทยาศาสตร์ในยุคนี้ ทำให้รู้สึกได้ว่าการชงกาแฟให้ได้ดีสักถ้วยต้องอาศัยการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ การเข้าใจเรื่อง fluid dynamics บ้างก็จะทำให้เราไม่ต้องยึดติดอยู่กับเรื่อง perfect shot 25 วินาที และเปิดโอกาสให้จินตนาการกับประสาทสัมผัสของเราทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น และนำพาให้เราได้ค้นพบรสชาติและประสบการณ์ใหม่ๆ จากกาแฟถ้วยเล็กๆ ถ้วยเดิม ได้พบกับสไตล์หรือบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของเราเอง และได้รื่นรมย์กับความไม่สมบูรณ์แบบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากความเป็นมนุษย์

จึงเป็นที่มาของความตั้งใจในการเขียนบทความมินิซีรี่ส์สิบตอนจบ เกี่ยวกับการผสมผสานของศิลปะกับวิทยาศาสตร์ในกาแฟเอสเพรสโซ เป็นความพยายามอธิบายศาสตร์การชงกาแฟจากมุมมองของคนที่เรียนจบการตลาดแต่ก็ชอบอ่านตำรากาแฟเชิงวิทยาศาสตร์(แบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง) ได้มีโอกาสไปพบเจอคนที่เก่งและรู้จริงมาบ้าง ซึ่งจากการเก็บเล็กผสมน้อยที่ผ่านมาก็อยากเขียนเก็บไว้ เผื่ออนาคตกลับมาอ่านใหม่จะได้รู้ว่าเข้าใจอะไรผิดถูกมาบ้าง