ในท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คำถามมากมายที่ผุดขึ้นกลางวงสนทนาคือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเล็กๆ ของคนท้องถิ่นอยู่รอดจากการถูกกินรวบโดยธุรกิจระดับพันล้านหมื่นล้าน คำตอบไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อเรียกจาก โชวห่วย เป็น โชว์สวย (ไม่น่าเชื่อว่านี่ออกมาจากมันสมองของคนระดับรัฐมนตรี) แล้วแต่งหน้าทาปากร้านค้าให้ดูสะอาดทันสมัย ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยความเข้าใจเรื่องดีมานด์ซัพพลาย ถ้ามีคนซื้อก็มีคนขาย เช่น ยาม้า ที่ต่อให้เปลี่ยนไปอีกกี่ชื่อก็ยังขายได้ถ้ามีคนซื้อ ดังนั้นถ้าเราสามารถปลูกจิตสำนึกของคนซื้อ สร้างความต้องการสนับสนุนธุรกิจเล็กๆ ของคนท้องถิ่นขึ้นได้ ธุรกิจเล็กๆ ในท้องถิ่นก็อยู่ได้ด้วย
ผมไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมนะครับ เพราะมันเป็นวิธีคิดแบบนึงที่พาโลกให้ก้าวหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ แต่ในอีกด้านนึงทุนนิยมก็กำลังกัดกร่อนทรัพยากรของโลกไปมาก ตัวอย่างง่ายๆ คือเรื่องข้าว ผมเคยอ่านเจอเรื่องสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในแต่ละจังหวัด ที่เมื่อรวมทั้งประเทศเข้าไปแล้วก็มีมากมายอยู่พอสมควร ข้าวแต่ละพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติแล้วว่ามันเหมาะกับพื้นที่แบบนั้น ปลูกได้ผลผลิตพอควรแต่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือบำรุงอะไรมากมาย รสชาติก็เป็นเอกลักษณ์ แต่เมื่อตลาดมีความต้องการข้าวแบบเดียว ชาวบ้านก็เแห่กันไปเอาเมล็ดพันธุ์ฟรีที่โฆษณาว่าได้ผลผลิตถึงเท่านั้นเท่านี้ตันต่อไร่ แล้วพอปลูกจริงกลับไม่ได้เพราะสายพันธุ์นั้นไม่ได้เหมาะกับพื้นที่ตรงนั้น ก็ต้องซื้อปุ๋ยเคมีซื้อยาฆ่าแมลงมาประโคมใส่เพื่อให้ผลผลิตดี สุดท้ายคนที่รวยไม่ใช่ชาวนาหรอก แต่เป็นพ่อค้าปุ๋ยเคมีและเสี่ยเจ้าของโรงสี แล้วคนที่เจ็บตัวคือชาวนาและธรรมชาติ
หันมาดูเรื่องกาแฟไทยเราบ้าง เราไม่ได้ปลูกกาแฟมาเป็นหลายร้อยปีเหมือนบางประเทศ ความเข้มแข็งทางปัญญาเรื่องกาแฟก็ไม่พร้อมเหมือนต่างประเทศ ส่วนตัวผมเองก็คิดว่ากาแฟไทยเรานั้นคุณภาพส่วนใหญ่ยังไม่ทัดเทียมกับกาแฟจากต่างประเทศ ถ้าเปรียบเป็นฟุตบอลอาชีพ การที่มีนักเตะต่างชาติเข้ามาค้าแข้งในไทยเป็นเรื่องดี เพราะนักเตะไทยจะได้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ ความมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม และได้พัฒนาฝีเท้าในสนามไปพร้อมๆ กัน การที่เราได้นำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาคั่วมาชงก็เป็นเรื่องดี เสร็จแล้วเราก็มาย้อนดูว่าเราจะหาทางพัฒนากาแฟไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับเขาได้อย่างไร เพราะเอาเข้าจริงแล้วประเทศที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เจริญกว่าหรือพัฒนาไปมากกว่าประเทศไทย ดังนั้นผมคิดว่ากาแฟไทยถ้าพัฒนาให้ดีถึงจุดหนึ่งก็จะดีกว่ากาแฟจากต่างประเทศได้
ผมจึงชอบแนวคิด Buy Local มากๆ ครับ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อปรับสมดุลการจับจ่ายใช้สอย หมุนเวียนเงินไปให้กับร้านค้าเล็กๆ หรือชุมชนท้องถิ่นได้ แนวคิดนี้มีต้นกำเนิดในอเมริกาประเทศที่บูชาทุนนิยมอย่างเร่าร้อน แนวคิดนี้สนับสนุนให้คนจับจ่ายซื้อผลผลิตและสินค้าที่กำเนิดในท้องถิ่น เหตุเพราะว่ามันสดใหม่กว่า มันอร่อยกว่า มันมีคุณภาพดีกว่า และในเวลาเดียวกันก็ทำให้เม็ดเงินไหลไปยังผู้ประกอบการรายเล็กๆ แทนที่จะไหลไปเข้ากระเป๋าของผู้ถือหุ้นธุรกิจพันล้านหมื่นล้าน ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะส่วนตัวเคยได้ชิมกาแฟไทยที่คุณภาพดีมากๆ เทียบกับกาแฟไทยธรรมดาอีกสองสามตัวและกาแฟนำเข้าที่มาจากแหล่งเพาะปลูกดังๆ ของโลก ซึ่งผลออกมาคือกาแฟดีๆ ของเราชนะเขาได้แบบสบายๆ ภาษาอังกฤษเรียก วิธฟลายอิ้งคัลเล่อร์ส เลยทีเดียว
ผมว่าร้านกาแฟเล็กๆ หรือโรงคั่วขนาดจิ๋วๆ อย่างเราไม่ต้องรวบรวมเสื้อผ้าไปกันหนาวให้น้อง หรือจัดแคมเปญบริจาค 10 บาทในกาแฟทุกถ้วยเพื่อช่วยชาวเขา หรือเอางบ CSR พาบาริสต้าไปสร้างโรงเรียนบนดอยแบบบริษัทกาแฟใหญ่ๆ ก็ได้ ผมคุยกับเพื่อนผมที่ทำงานกับคนบนดอยและเป็นเจ้าของกาแฟวิธฟลายอิ้งคัลเล่อร์นั้น เขาบอกว่านี่เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับชาวบ้าน วันๆ ไม่ต้องทำอะไรนั่งคอยของบริจาคที่มาจากด้านล่าง ผมถามเขาว่าแล้วคนบนดอยต้องการอะไร คำตอบคือ เขาต้องการความรู้ที่จะมาช่วยเขาปลูกกาแฟ เขาต้องการสายพันธุ์ที่ดี เขาต้องการตลาดที่ยั่งยืนที่ให้ราคาเป็นธรรม
happy espresso ในฐานะที่เป็นโรงคั่วกาแฟเล็กๆ พยายามเต็มที่ในการเสาะหากาแฟไทยดีๆ มาบริการท่าน ร้านกาแฟที่สนใจสามารถเข้าร่วมแคมเปญ Buy Local กับเราได้ง่ายๆ เพียงติดสติกเกอร์ Buy Local ไว้ที่หน้าร้าน และจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟที่ท่านใช้เพื่อให้ลูกค้าที่มาดื่มกาแฟได้รับทราบ ช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ
เห็นด้วยละครับ ชอบจังประโยคที่ว่า คนปลูกกาแฟเขาไม่ต้องการรอรับส่วนแบ่งจากยอดขายของ บริษัทใหญ่ๆ แต่ต้องการคนมาให้ความรู้เรื่องกาแฟ มากกว่า ขอบคุณครับ
เห็นและสนับสนุนเต็มที่ครับ ขอสติ้กเกอร์ด้วยคนครับ ขอข้อมูลกาแฟAGด้วยครับ